โรคติดเชื้อในเด็ก เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข ที่ทำให้เกิดอัตราการป่วยและอัตราการตายในเด็กโดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี (under 5 mortality rate) ในปี พ.ศ. 2557 อัตราการป่วยตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศไทย เป็น 13 ต่อ 100,000 ประชากร ซึ่งสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีอัตราการตายเพียงร้อยละ 2-4 ต่อ 100,000 ซึ่งการติดเชื้อหลายชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยทางคลินิกในการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อ ทางศูนย์ฯ มีประสบการณ์ในการวิจัยวัคซีนโดยมีการศึกษาในประชากรหลายกลุ่ม อาทิเช่น การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงในทารกและเด็กเล็ก การศึกษาแนวทางการให้วัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรวัยรุ่นสามารถลดจำนวนการฉีดวัคซีนจาก 3 เข็มลงเหลือ 2 เข็ม ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในวงกว้างมากขึ้น เป็นต้น
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการติดเชื้อเอชไอวี เป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งประเทศไทยมีการวิจัยพัฒนาและระบบบริการในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีเป็นอย่างดี ถือเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการรับมือกับการระบาดของเชื้อเอชไอวี สำหรับเด็กนั้นการติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ได้รับจากมารดาในระหว่างอยู่ในครรภ์และระยะคลอดในระยะแรก อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกสูงถึงร้อยละ 20-25 ต่อมามีการวิจัยพัฒนายาต้านไวรัสเอชไอวี และพัฒนาระบบบริการในการตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวี ทำให้การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ลดลงเหลือประมาณ ร้อยละ 2 ซึ่งในระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาทางอาจารย์ในสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์และสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาสูติศาสตร์ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ในการดำเนินการวิจัยทางคลินิกเพื่อลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกและการวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านไวรัส เพื่อรักษาเด็กติดเชื้อเอชไอวีมาโดยตลอด อีกทั้งมีการจัดอบรมเผยแพร่ความรู้ด้านเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์และเด็กให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค
ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (antimibrobial resistance organisms) เป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก ได้มีการรณรงค์และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา โดยการเฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ (surveillane system) รวมถึงการรณรงค์การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม (antibiotics stewardship) ในระยะมีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะ ที่ดื้อยามาก อาทิเช่น Carbapenem Resistance Enterobactericiae (CRE) ข้อมูลผู้ป่วยเด็ก รพ.จุฬาลงกรณ์ ที่ติดเชื้อ Klebsiella pneumoniae พบว่าเป็นเชื้อกลุ่ม CRE ร้อยละ 20 E. Coli เป็นเชื้อที่มีการดื้อยาชนิด CRE ร้อยละ 5 เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการวิจัยแบบสหสาขาเพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา เชื้ออุบัติใหม่(emerging infectious diseases) รวมถึงเป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีการระบาดในวงกว้างที่มีผลกระทบต่อระบบสาธราณสุช อาทิเช่น Zika virus, MERS, Ebola, Avian influenza เป็นต้น หรือ เชื้อเดิมที่เคยควบคุมได้แล้วกลับมาระบาดใหม่ อาทิเช่น measles, pertussis เป็นต้น เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว เชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้การแพร่กระจายของโรคเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการเตรียพร้อมเฝ้าระวังที่ดีและมีการทำงานสอดประสานกัน ทั้งในระดับโรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุขในระดับประเทศ ภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่
เนื่องจากโรคติดเชื้อเด็กมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาศูนย์วิจัยที่มีความชำนาญด้านงานวิจัยทางคลินิกสำหรับโรคติดเชื้อในเด็ก เพื่อพัฒนาการวินิจฉัยและการรักษา รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคที่เหมาะสม ซึ่งทางคณะผู้วิจัยในศูนย์วิจัยฯ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายมีประสบการณ์งานวิจัยในด้านต่างๆ ที่พร้อมจัดตั้งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน
เพื่อเป็นศูนย์วิจัยด้านโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีนในระดับนานาชาติและเป็นศูนย์เชี่ยวชาญงานสำหรับการศึกษาดูงานด้านโรคติดเชื้อในเด็กระดับภูมิภาค
ตุลาคม 2559-กันยายน 2560
ก่อตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตุลาคม 2560-กันยายน 2561
ก่อตั้งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน(ปีที่1) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตุลาคม 2561-กันยายน 2562
ก่อตั้งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิจัยโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน(ปีที่2) ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย